ราคากุ้งประจำวัน

ปรับปรุงเมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2566

จำนวนกุ้ง (ตัว) ต่อกิโลกรัม 40 50 60 65 70 75 80 85 90 95 100 105 110 115 120 125 130 135 140 145 150 จำนวนตู้
ราคา (บาท) 205 185 175 17 170 160 150 145 135 130 128 122 122 120 120 120 120 118 118 118 116 29

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 กรมประมงจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการซื้อขายปลากะพงขาว ระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 ชูความสำเร็จของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้การตลาดนำการผลิต สามารถป้อนออร์เดอร์ปลากะพงขาวเข้าครัวการบินไทยได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายฐานการเพาะเลี้ยงสู่กลุ่มเกษตรกรรายอื่นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์ว่า “ปลากะพงขาว” เป็นหนึ่งในชนิดสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่กรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงได้รวมกลุ่มกันและเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับสินค้าเกษตรให้มีมาตรฐาน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดระดับพรีเมียม ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ถือเป็นต้นแบบของการรวมกลุ่มตามโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี โดยสามารถเปิดช่องทางการตลาดเป็นสินค้าสัตว์น้ำชนิดแรกเพื่อกระจายผลผลิตไปยังฝ่ายครัวการบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีออร์เดอร์เนื้อปลากะพงขาวแช่แข็งเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้แก่ผู้โดยสารการบินไทยกว่า 523 ตัน ซึ่งถือเป็นการใช้แนวทางการตลาดนำการผลิตได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยผลผลิตที่มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) มีการปฏิบัติตามแนวทางการใช้แรงงานที่ดี (GLP) รวมทั้งอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงมาจากวัตถุดิบที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมายมีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต (Traceability) ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ

ล่าสุด สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อการซื้อขายปลากะพงขาวขึ้น เพื่อทำการป้อนผลผลิตเข้าสู่ครัวการบินไทยรองรับความต้องการของผู้บริโภคบนสายการบินอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้จับมือทำบันทึกข้อตกลงเพื่อการผลิตและแปรรูปปลากะพงขาว กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อให้กระบวนการแปรรูปและแช่แข็งวัตถุดิบยังคงคุณภาพที่ดีก่อนนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ สำหรับเสิร์ฟผู้โดยสารบนสายการบิน ซึ่งการจัดทำข้อตกลงในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว

ทั้งนี้ กรมประมงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ได้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อขยายฐานการผลิตปลากะพงขาวตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งจะทำการผลักดันสินค้าสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงการตลาดกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต่อไปในอนาคต

ด้านนางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา การบินไทยได้สั่งซื้อปลากะพงขาวจากกลุ่มเกษตรกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งบริษัทฯ ได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานกรมประมงและครัวการบินไทย นำมาประกอบอาหาร และมีการตอบรับจากผู้ใช้บริการเป็นอย่างดีตลอดมา สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ การบินไทยยินดีที่ได้สนับสนุนปลากะพงขาวจากการเพาะเลี้ยงของกลุ่มเกษตรกรในสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ในโครงการ “จากผืนน้ำสู่ผืนฟ้า” สู่ครัวการบินไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 3 มีระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2562 - 2565) ซึ่งครัวการบินไทยมีความต้องการใช้ปลากะพงขาวเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารชั้นเลิศ ถึงปีละประมาณ 50 ตัน โดยผลิตเป็นเมนูยอดนิยมมาให้บริการและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้โดยสารทั่วโลก อาทิ ฉู่ฉี่ปลากะพง ปลากะพงราดซอส ปลากะพงนึ่ง ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมช่องทางการตลาดและศักยภาพการผลิตสินค้าประมงของผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทยสู่สากล การบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติ ได้ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมอันมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อส่วนรวม ตามนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา การบินไทยมีโครงการช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกรไทยในหลากหลายรูปแบบ โดยการสั่งซื้อผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรจากทุกภาคของประเทศไทย เช่น พืชผักผลไม้เมืองหนาวของโครงการหลวง ผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรจากดอยคำ ผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยสูง (ผักผลไม้เบอร์8) ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน รวมทั้งยังได้สนับสนุนการจัดจำหน่ายสินค้า OTOP บนเครื่องบินอีกด้วย การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันครั้งนี้ ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าและการบริการแบบไทย โดยคนไทย ด้วยอาหารจากวัตถุดิบคุณภาพ ปลอดสารพิษ ตามพันธกิจหลักในการให้บริการของการบินไทยด้วยเสน่ห์แห่งความเป็นไทยบนมาตรฐานระดับสากล เพื่อส่งมอบการบริการที่ดีที่สุดระดับพรีเมี่ยมตลอดการเดินทาง

บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของการทำข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เช่นกัน เหตุเพราะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องการได้ชิ้นปลากะพงที่ผลิตมาจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงของไทย ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้านี้ได้ตลอดสาย อันได้แก่ เกษตรกรไทยที่ผลิตให้นี้คือใคร เป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐานจีเอพีของกรมประมง ในพื้นที่ไหน ใช้อาหารสำเร็จรูปอะไรในการนำเลี้ยงปลากะพง และอาหารสำเร็จรูปนั้นสามารถตรวจย้อนได้ว่าใช้วัตถุดิบอะไรมาจากแหล่งไหน ผลิตเมื่อวันที่เท่าไร เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรที่ผลิตปลากะพงขาว ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย จึงนิยมใช้อาหารปลากะพงของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด เพราะมั่นใจในคุณภาพ และ มั่นใจในระบบการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทุกชุดการผลิต และนี่คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจของพวกเรา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับ สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย

ที่มา : https://www4.fisheries.go.th/index.php/dof/activity_item/3311

https://www4.fisheries.go.th/index.php/dof/activity_item/3310